มาร์คซ์ (1845)

แนะนำนิพนธ์วิจารณ์ ฟอยเออร์บัค ของ คาร์ล มาร์คซ์ - โดย ใจ อึ๊งภากรณ์

มาร์คซ์ ชมนักวัตถุนิยมชื่อ ฟอยเออร์บัค ว่าให้ประโยชน์กับเราตรงที่ท้าทายพวกจิตนิยมที่ไม่สนใจความจริงในโลก แต่มาร์คซ์วิจารณ์เขาต่อไปว่ามักมองอะไรด้านเดียว คือมองว่าโลกเราเป็นแค่วัตถุ และมองความคิดของมนุษย์ว่าถูกกำหนดด้านเดียวจากโลกเท่านั้น โดยไม่ให้ความสำคัญกับความสามารถของมนุษย์ที่จะคิดเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก ในตอนท้ายสุดมาร์คซ์เสนอว่าในอดีตนักปรัชญาวัตถุนิยมได้แต่พยายามอธิบายโลกจริงที่เห็นอยู่ แต่ผู้ไม่เคยสนใจความสามารถของมนุษย์ที่จะเปลี่ยนโลกจะไม่เข้าใจธาตุแท้ของโลกเรา และนักปรัชญาเหล่านี้จะไม่มีทางนำปรัชญาของเขามาใช้ในการสร้างโลกใหม่ได้ถ้าไม่ทำงานในภาคปฏิบัติ พูดง่ายๆ ถึงแม้ว่าทฤษฏีเป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ นักวิชาการในหอคอยงาช้างที่ไม่ลงมาปฏิบัติในโลกจริง จะไม่มีวันเข้าใจโลกจริงได้ และจะไม่มีประโยชน์สำหรับขบวนการทางสังคมที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโลกด้วย

มาร์คซ์มองว่าเวลามนุษย์ปฏิบัติในโลกจริงจะเกิดสองสิ่งขึ้นพร้อมกันคือ ความคิดของมนุษย์กลายเป็นพลังทางวัตถุที่มีตัวตน และ ความจริงทางวัตถุในโลกที่เราสัมผัสถูกแปรไปเป็นความนึกคิดหรือภาพฝัน ทั้งนี้เนื่องจากการกระทำอะไรทั้งหลายของมนุษย์มีสององค์ประกอบที่แยกออกจากกันไม่ได้คือ วัตถุในโลกจริงที่อยู่นอกร่างกายมนุษย์ และกระบวนการทางจิตใจในการสัมผัสและนึกคิดของมนุษย์ เดิมทีพวกวัตถุนิยมกลไกจะมองว่ามนุษย์เป็นแค่วัตถุที่ถูกกระทำในโลกจริง ส่วนพวกจิตนิยมจะมองว่ามนุษย์แยกออกจากโลกจริงและมีพลังทางจิตใจที่ไม่เกี่ยวข้องกับโลก แต่วิภาษวิธีวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ของมาร์คซ์จะสามารถสังเคราะห์จุดยืนสองขั้วดังกล่าวไว้ด้วยกันได้ คือมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของโลกจริง และในทางปฏิบัติแม้ความคิดของมนุษย์ก็คือสิ่งมีจริงด้วย แต่ในทางกลับกันเวลามนุษย์สัมผัสอะไรหรือนึกคิดถึงอะไรในโลกจริง มันมีการแปรเปลี่ยนความจริงในสมองเราในลักษณะอตวิสัยด้วย มาร์คซ์ กับ เองเกิลส์ไม่ได้ปฏิเสธว่ามีวัตถุจริงที่ไร้จิตสำนึกของมันเอง เช่นก้อนหิน และไม่ได้ปฏิเสธความสามารถของมนุษย์ในการใฝ่ฝันถึงสิ่งที่ไม่มีจริงเลย แต่เขาเสนอว่าการปฏิบัติหรือการทำงานของมนุษย์เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงโลกวัตถุกับกระบวนการความคิด ดังนั้นงานมนุษย์ไม่ใช่แค่สิ่งที่สร้างมูลค่าให้เราเท่านั้น แต่มันมีความสำคัญในทุกแง่ของชีวิตเราและในการเปลียนแปลงมนุษย์และสังคม

งานนิพนธ์วิจารณ์ ฟอยเออร์บัค ของมาร์คซ์ เป็นตัวอย่างที่งดงามของการใช้วิภาษวิธีแบบวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ เพราะมีการมองภาพรวมของสิ่งที่แตกต่างกันและขัดแย้งกัน เช่นโลกจริงภายนอกมนุษย์ กับกระบวนการต่างๆ ภายในมนุษย์เองที่รวมถึงความคิด มาร์คซ์เน้นเสมอว่ามนุษย์ไม่ใช่ปัจเจกโดดเดี่ยวแต่เป็นส่วนหนึ่งของใยสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในสังคม และเราและความคิดของเราเป็นผลผลิตของสังคมนี้ แม้แต่นิยายและความเชื่อเกี่ยวกับศาสนาที่ไม่ตรงกับความจริง เราต้องเข้าใจในลักษณะที่มันเป็นผลผลิตและเชื่อมโยงกับการปฏิบัติจริงในสังคมอย่างมีเหตุผลทั้งๆ ที่มันเป็นเพียงนิยาย พูดง่ายๆ คนที่เชื่อนิยายมีเหตุผลในการเชื่อนิยาย เขาไม่ได้โง่อะไร แต่ในขณะเดียวกันเรามีพลังในการเปลี่ยนสังคมภายนอกได้ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนตัวเราเองและความคิดของเราได้อีกด้วย วิธีการลบล้างนิยายคือการปฏิบัติเพื่อเปลี่ยนสังคมในโลกจริง

นิพนธ์วิจารณ์ ฟอยเออร์บัค

โดย คาร์ล มาร์คซ์

แปลโดย ใจ อึ๊งภากรณ์
  1. จุดอ่อนหลักของแนวคิดวัตถุนิยมในอดีต รวมถึงแนวคิดของ ฟอยเออร์บัค ด้วย คือเขามองว่า สิ่งของ ความจริง และความรู้สึกสัมผัส เป็นแค่วัตถุ หรือความนึกคิดของมนุษย์เกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นอย่างโดดๆ เท่านั้น โดยไม่เข้าใจว่าในทางปฏิบัติ "กระบวนการทางจิตใจของมนุษย์ในการสัมผัสโลกจริง" หรือการปฏิบัติของมนุษย์ เป็นส่วนหนึ่งของความจริงแบบภาวะวิสัยด้วย ดังนั้นจะเป็นพวกสำนักจิตนิยมต่างหากที่ให้ความสนใจกับการปฏิบัติทางจิตใจของมนุษย์ แต่พวกจิตนิยมอธิบายกระบวนการทางความคิดในแง่ที่ลอยอยู่เหนือและไม่เชื่อมโยงกับโลกจริง ฟอยเออร์บัคต้องการแยก "ความรู้สึกสัมผัสโลกจริงของมนุษย์" ที่เขาเห็นว่าเป็นของจริง ออกจากความนึกคิด แต่เขามองด้านเดียวจนเขาไม่สามารถมองกระบวนการทางจิตใจของมนุษย์ว่าเป็นกิจกรรมจริงแบบวัตถุนิยมได้ ด้วยเหตุนี้ในหนังสือ"ธาตุแท้ของศาสนาคริสต์" เขาให้ความสำคัญกับทฤษฎีทางศาสนาและการปฏิบัติอย่างตายตัวไม่เปลี่ยนแปลงของมนุษย์ตามคำเขียนในคัมภีร์เท่านั้น ฟอยเออร์บัคจึงไม่เข้าใจความสำคัญของการปฏิบัติของมนุษย์ในโลกจริงที่ท้าทายและปฏิวัติความความเชื่ออยู่อย่างต่อเนื่อง
  2. คำถามที่ว่า ความคิดของมนุษย์จะเป็นความจริงทางวัตถุได้หรือไม่ ไม่ใช่คำถามทางทฤษฎี แต่เป็นคำถามที่ต้องตอบในทางปฏิบัติ ในรูปธรรมมนุษย์จำเป็นต้องพิสูจน์ความจริง คือในการพิสูจน์ความจริงต้องแสดงให้เห็นพลังและความถูกต้องของความคิด การถกเถียงกันเรื่องความจริงกับความเท็จในเรื่องของความคิดมนุษย์ที่แยกจากการปฏิบัติ เป็นแค่คำถามสำหรับนักวิชาการในหอคอยงาช้าง
  3. ข้อเสนอของพวกวัตถุนิยม ว่ามนุษย์คือผลผลิตของบริบทสังคมและการเลี้ยงดูเท่านั้น และถ้ามนุษย์เปลี่ยนไปจากเดิมการเปลี่ยนแปลงนั้นต้องมาจากบริบทและการเลี้ยงดูที่แตกต่างกันไป เป็นความคิดที่มองข้ามความจริงว่ามนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงบริบทของสังคมได้เสียเอง ในลักษณะเดียวกันถ้าไม่มองด้านเดียวจะเห็นว่าครูผู้สอนทุกคนต้องเป็นผู้เรียนรู้ด้วย ด้วยเหตุนี้แนวคิดวัตถุนิยมจึงมีข้อสรุปว่าต้องแยกสังคมออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นส่วนพิเศษที่ลอยอยู่เหนือสังคมและเป็นสิ่งที่กำหนดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคม ( เช่นคนอย่าง โรเบิร์ต โอเว่น ที่เปลี่ยนโครงสร้างโรงงานและชุมชน) แต่ถ้าเราจะเข้าใจภาพรวมของสังคมที่มีทั้ง บริบทที่เปลี่ยนแปลงไป และกิจกรรมหรือการปฏิบัติของมนุษย์ เราต้องมองสองสิ่งนี้ควบคู่กันไป กิจกรรมของมนุษย์นั้นเองที่เปลี่ยนแปลงบริบทของสังคม
  4. ฟอยเออร์บัค เริ่มต้นจากการเสนอว่าความคิดทางศาสนาเป็นสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมาแล้วแปลงให้แปลกแยกจากมนุษย์จนเราเชื่อกันว่ามันมาจากธรรมชาติ งานของเขาพยายามที่จะละลายโลกนิยายของศาสนาเข้าสู่โลกที่ไร้ศาสนา แต่เขามองข้ามภาระหลักที่ยังจะต้องทำต่อไป เพราะแม้แต่ความคิดที่ไร้ศาสนาของมนุษย์ (เช่นรัฐ หรือตลาด) ก็ยังเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นแล้วแปลงสภาพให้แปลกแยกจากตนเองจนลอยขึ้นฟ้าเหนือเมฆได้ ด้วยเหตุนี้เราจำเป็นต้องเข้าใจความแปลกแยกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความแปลกแยกเกี่ยวกับศาสนาหรือความแปลกแยกที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา เพื่อให้เราปฏิวัติขจัดความแปลกแยกดังกล่าวและเปลี่ยนแปลงมันไป ยกตัวอย่างเช่น เนื่องจากความคิดเกี่ยวกับศาสนามักสะท้อนกฏระเบียบที่เราสร้างเองเกี่ยวกับครอบครัว เราจึงจำเป็นที่จะต้องวิจารณ์ครอบครัวทั้งางทฤษฎีและด้วยการปฏิบัติในการปฏิวัติสังคม
  5. ฟอยเออร์บัค ไม่พอใจกับการคิดของมนุษย์แบบลอยๆ ที่ไม่เกี่ยวกับวัตถุจริง เขาจึงวิ่งเข้าไปหาความคิดประเภทที่มาจากการสัมผัส แต่เขาไม่เข้าใจว่าความคิดที่มาจากการสัมผัสเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางจิตใจของมนุษย์ในรูปธรรม
  6. ฟอยเออร์บัค พยายามที่จะกลั่นสาระทางศาสนาให้เหลือแค่เนื้อแท้ของความเป็นมนุษย์ แต่เนื้อแท้ของความเป็นมนุษย์ไม่สามารถย่อลงมาถึงขั้นปัจเจกได้ สิ่งที่ปรากฏจริงเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์คือองค์รวมของความสัมพันธ์ต่าง ๆ ระหว่างมนุษย์ในสังคม ด้วยเหตุนี้ ฟอยเออร์บัค

(1)  มองว่าความคิดทางศาสนาเป็นสิ่งโดดเดี่ยวตายตัว และเขาจำเป็นต้องประดิษฐ์มนุษย์ปัจเจกเป็นตัวอย่างสมมุติฐานขึ้นมา และ

(2)   ต้องเหมารวม ลักษณะต่าง ๆ ของแต่ละปัจเจกมนุษย์ในลักษณะหยาบ ๆ

  1. ฟอยเออร์บัค จึงไม่สามารถเข้าใจได้ว่าความคิดทางศาสนาเป็นผลผลิตของสังคม และปัจเจกสมมุติฐานที่เขาประดิษฐ์ขึ้นมา เป็นส่วนหนึ่งของสังคมชนิดหนึ่ง
  2. ชีวิตสังคมเป็นชีวิตรูปธรรม นิยายต่างๆ ทฤษฎีต่างๆ ที่พาเราหลงทาง จริงๆ แล้วต้องเชื่อมโยงอย่างมีเหตุผลกับการปฏิบัติของมนุษย์ในโลกจริง และการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติดังกล่าว
  3. เนื่องจากแนววัตถุนิยมไม่เข้าใจว่ากระบวนการความคิดของมนุษย์เป็นการปฏิบัติในโลกจริง ความเข้าใจสูงสุดของแนววัตถุนิยมที่เกี่ยวกับความคิดของมนุษย์จึงได้แต่เพียงสรุปว่าความคิดของมนุษย์เป็นความคิดของปัจเจกโดดเดี่ยวใน “ประชาสังคม”
  4. จุดยืนของวัตถุนิยมเก่า คือ "ประชาสังคม" ของปัจเจก จุดยืนของวัตถุนิยมใหม่คือสังคมมนุษย์ หรือมนุษย์ที่ได้รับการกล่อมเกล่าจากสังคม
  5. นักปรัชญาเพียงแต่วิเคราะห์โลกในแง่ต่าง ๆ แต่ประเด็นหลักคือการเปลี่ยนแปลงโลก