ว่าด้วยการนัดหยุดงาน

โดย วี ไอ เลนิน

แปลโดย ใจ อึ๊งภากรณ์

ในทุกประเทศความโกรธแค้นของกรรมาชีพในยุคเริ่มแรกปรากฏออกมาในรูปแบบการต่อสู้อย่างกระจัดกระจาย - ตำรวจและนายจ้างในรัสเซียเรียกการต่อสู้แบบนี้ว่า “การกบฏ” ในทุกประเทศการต่อสู้กระจัดกระจายนี้พัฒนาไปสู่ การนัดหยุดงานอย่างสันติ และการต่อสู่อย่างรอบด้านเพื่อการปลดแอกกรรมาชีพ

การนัดหยุดงานมีความสำคัญอย่างไรสำหรับชนชั้นกรรมาชีพ? ถ้าจะตอบคำถามนี้ก่อนอื่นเราต้องวิเคราะห์การนัดหยุดงานให้ลึกกว่านี้ เราทราบดีว่าค่าจ้างของกรรมาชีพถูกกำหนดจากข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง และในเมื่อลูกจ้างในลักษณะปัจเจกไม่มีพลังอันใดทั้งสิ้น ลูกจ้างจำต้องรวมตัวกันเพื่อการต่อสู้เรียกร้อง พร้อมกันนั้นในการต่อสู้แบบรวมหมู่นี้กรรมาชีพถูกบังคับให้ใช้วิธีการของการนัดหยุดงาน ไม่ว่าจะเป็นกรณีการปกป้องระดับค่าจ้างที่ดำรงอยู่ไม่ให้ถูกลดลง หรือกรณีการเรียกร้องค่าจ้างเพิ่ม ในทุกประเทศที่มีระบบทุนนิยมจะมีการนัดหยุดงานของกรรมาชีพนี่คือสัจจะที่ปฏิเสธไม่ได้ ในทุกประเทศ ไม่ว่าจะยุโรปหรืออเมริกา กรรมาชีพจะรู้สึกอ่อนแอถ้าไม่มีความสามัคคี ถ้าเขาจะต่อรองกับนายจ้างเขาต้องรวมตัวกันนัดหยุดงานหรืออย่างน้อยประกาศว่าอาจจะนัดหยุดงาน

ในขณะที่ระบบทุนนิยมพัฒนามากขึ้นและนายทุนน้อยถูกโรงงานใหญ่ๆ เข้ามาแทนที่ ภาระกิจในการต่อสู้ร่วมกันของกรรมาชีพยิ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนมากขึ้น ทั้งนี้เพราะการว่างงานของกรรมาชีพมักเพิ่มขึ้นพร้อมๆ กับการแข่งขันที่ยิ่งแหลมคมมากขึ้นระหว่างนายทุนต่างๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิต (จ่ายค่าจ้างให้กรรมาชีพให้น้อยที่สุดนั้นเอง) นอกจากนี้มีปัญหาการขึ้นลงของเศรษฐกิจและปัญหาวิกฤตด้วย เมื่อเศรษฐกิจขยายตัวนายทุนจะกอบโกยกำไรมหาศาลโดยไม่คิดแบ่งกับกรรมาชีพ แต่พอเกิดวิกฤตนายจ้างจะพยายามให้กรรมาชีพเป็นผู้แบกปัญหาการขาดทุน ในประเทศทุนนิยมยุโรปตะวันตก สังคมยอมรับความจำเป็นของการนัดหยุดงานจนมีการยกเลิกกฏหมายห้ามการนัดหยุดงาน แต่ในรัสเซียกฏหมายป่าเถื่อนที่ห้ามการนัดหยุดงานยังดำรงอยู่

การนัดหยุดงานที่ก่อกำเนิดมาจากลักษณะของสังคมทุนนิยมเอง แสดงให้เห็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้กับระบบโดยชนชั้นกรรมาชีพ เมื่อนายทุนร่ำรวยเผชิญหน้ากับกรรมาชีพไร้สมบัติในลักษณะปัจเจก กรรมาชีพจะตกเป็นทาสอย่างเบ็ดเสร็จ แต่เมื่อกรรมาชีพไร้สมบัติเหล่านั้นรวมตัวกัน สถานการณ์จะเปลี่ยนแปลง ทรัพย์สมบัติมหาศาลทั้งหมดของนายทุนไร้ค่าทั้งสิ้นถ้านายทุนไม่สามารถหากรรมาชีพมาทำงานกับปัจจัยการผลิตของนายทุนเพื่อสร้างความร่ำรวยต่อ ตราบใดที่ลูกจ้างต้องเผชิญหน้ากับนายจ้างในลักษณะปัจเจก กรรมาชีพจะเป็นทาสรับใช้ถาวรที่จำต้องทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อกินข้าวมื้อเดียวในลักษณะคนรับใช้ที่สงบนิ่งไม่กล้าแสดงออก แต่เมื่อกรรมาชีพยื่นข้อเรียกร้องร่วมกันและไม่ยอมก้มหน้าเคารพเหล่าถุงเงินทั้งหลาย กรรมาชีพจะเลิกเป็นทาสและกลายเป็นมนุษย์ เขาเริ่มเรียกร้องว่างานที่เขาทำต้องมีส่วนทำให้เขามีชีวิตอยู่อย่างเป็นมนุษย์ด้วย ไม่ใช่แค่รับใช้แต่พวกคนรวยที่ไม่เคยทำงานเอง ทาสเริ่มตั้งข้อเรียกร้องเพื่อหวังมาเป็นนายเสียเอง ใช้ชีวิตตามที่กรรมาชีพต้องการไม่ใช่ว่าต้องใช้ชีวิตอย่างที่เจ้าของที่ดินและนายทุนต้องการ ดังนั้นการนัดหยุดงานมักจะทำให้นายทุนกลัวเพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการโค่นล้มความเป็นเจ้าของเขา

“ลูกล้อกงจักรทั้งหลายหยุดนิ่ง ถ้ามืออันแสนมีพลังของท่านห้ามไว้” นี่คือส่วนหนึ่งจากเนื้อเพลงของกรรมาชีพเยอรมัน และมันเป็นความจริง โรงงาน ที่ดินของเจ้าที่ดิน เครื่องจักร รถไฟ ฯลฯ เสมือนลูกล้อกงจักรในเครื่องจักรยักษ์ใหญ่ทุนนิยม เครื่องจักรที่สกัด แปรรูป และส่งผลผลิตไปยังจุดหมายปลายทาง เครื่องจักรยักษ์นี้เดินได้เพราะกรรมาชีพที่ขุดดินไถนา กรรมาชีพที่สกัดแร่ กรรมาชีพในโรงงาน กรรมาชีพก่อสร้าง กรรมาชีพในโรงซ่อมเครื่อง และกรรมาชีพในระบบขนส่งทางรถไฟ ... ถ้ากรรมาชีพไม่ยอมทำงานเครื่องจักรยักษ์นี้ทำท่าจะหยุดทำงาน

การนัดหยุดงานทุกครั้งเป็นเครื่องเตือนใจนายทุนว่ากรรมาชีพต่างหากที่เป็นเจ้านายแท้ของระบบ และกรรมาชีพเหล่านั้นกำลังเรียกร้องสิทธิเสรีภาพมากขึ้นทุกวัน การนัดหยุดงานเป็นสิ่งที่ให้กำลังใจกับกรรมาชีพว่าสถานการณ์ของเขาไม่ได้ย่ำแย่จนแก้ไขไม่ได้ และเขาเริ่มรู้ว่าไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว ดูสิว่าการนัดหยุดงานมีผลกับผู้หยุดงานและกรรมาชีพใกล้เคียงในโรงงานใกล้เคียงอย่างไร ในยามปกติที่สงบ กรรมาชีพจะทำงานโดยไม่บ่นอะไร ไม่เถียงกับนาย และไม่แลกเปลี่ยนอะไรกับใครเรื่องสภาพความเป็นอยู่ แต่ในยามที่มีการนัดหยุดงานกรรมาชีพจะประกาศข้อเรียกร้องดังสนั่น จะเตือนนายจ้างเรื่องการเอารัดเอาเปรียบทั้งปวง จะเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ จะมองในเรื่องที่กว้างกว่าแค่ค่าจ้างและสภาพชีวิตของตัวเขาเอง กรรมาชีพจะนึกถึงเพื่อนร่วมงานทั้งหลายที่ร่วมกันหยุดงานและกล้ายืนสู้เพื่อผลประโยชน์กรรมาชีพโดยไม่เกรงกลัว การนัดหยุดงานนำความยากลำบากมาสู่กรรมาชีพ แสนจะยากลำบากจนอาจเทียบเท่าภาวะสงครามก็ได้ ครอบครัวทั้งหิวทั้งจน บางครั้งถูกจับเข้าคุก บางทีถูกเนรเทศ แต่ไม่ว่าจะยากลำบากเพียงใด กรรมาชีพจะดูถูกอย่างถึงที่สุดเจ้าพวกทรยศต่อชนชั้นที่แอบเข้าไปยอมจำนนต่อนายจ้าง ไม่ว่าจะยากลำบากเพียงใดจากการนัดหยุดงานกรรมาชีพในโรงงานข้างเคียงจะได้กำลังใจจากการต่อสู้ของเพื่อนมิตรสหาย “คนที่สามารถอดทนถึงขนาดนี้เพื่อบังคับนายทุนเพียงคนเดียวให้ก้มหัวคงจะมีพลังพอที่จะทำลายนายทุนทั้งชนชั้นได้” นี่คือคำพูดของครูใหญ่แห่งสังคมนิยม - เองเกิลส์ - เกี่ยวกับการนัดหยุดงานของกรรมาชีพอังกฤษ

บางครั้ง การนัดหยุดงานของโรงงานเดียว เพียงพอที่จะจุดประกายการนัดหยุดงานในโรงงานอื่นๆ มากมาย การนัดหยุดงานมีอิทธิพลทางความคิดยิ่งนัก สามารถทำให้กรรมาชีพเห็นว่าสหายของเขาเลิกเป็นทาส และถึงแม้ว่าอาจเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ที่ไม่ถาวร ขณะที่เขาหยุดงานเขาก็มีสถานภาพเท่าเทียมกับนายจ้างคนรวย การนัดหยุดงานทุกครั้งทำให้กรรมาชีพคิดถึงสังคมนิยม คิดถึงการต่อสู้ของกรรมาชีพทั้งชนชั้นเพื่อปลดแอกตนเองจากการกดขี่ของทุน บ่อยครั้งก่อนที่จะเกิดการนัดหยุดงาน กรรมาชีพในโรงงานแห่งหนึ่ง ในสาขาหนึ่งของอุตสาหกรรม หรือในเมืองแห่งหนึ่ง เกือบจะไม่รู้จักและไม่เคยพิจารณาเรื่องสังคมนิยมเลย แต่หลังจากการนัดหยุดงาน กลุ่มศึกษา และสมาคมต่างๆ เริ่มแพร่หลายมากขึ้นและกรรมาชีพสังคมนิยมก็ทวีคูณมากขึ้น

การนัดหยุดงานสอนให้กรรมาชีพเข้าใจว่าพลังอำนาจของนายจ้างและพลังอำนาจของกรรมาชีพเองเป็นไปในรูปแบบไหน มันสอนให้กรรมาชีพนึกถึงชนชั้นนายทุนทั้งชนชั้นและชนชั้นกรรมาชีพทั้งชนชั้น ไม่ใช่แค่นายจ้างของตนเองหรือเพื่อนร่วมงานของตนเองเท่านั้น เมื่อเจ้าของโรงงานที่สะสมทรัพย์เป็นล้านๆ จากงานของกรรมาชีพหลายรุ่นหลายสมัย ไม่ยอมขึ้นค่าแรงแม้แต่นิดเดียวหรือพยายามลดค่าแรง และเมื่อเขาปลดคนงานที่กล้ายืนขึ้นต่อสู้ออกจากโรงงานจนครอบครัวกรรมาชีพหลายพันคนต้องยากลำบาก มันกลายเป็นที่ประจักษ์ว่าชนชั้นนายทุนทั้งชนชั้นคือศัตรูของกรรมาชีพทั้งชนชั้น และกรรมาชีพมีที่พึ่งที่เดียวคือตนเองและการต่อสู้ร่วมกับกรรมาชีพอื่นๆ หลายครั้งเจ้าของโรงงานจะพยายามหลอกลวงคนงาน โดยสร้างภาพว่าเขาเป็นผู้อุปถัมภ์จิตใจเมตตา ด้วยการเอาใจเล็กๆ น้อยๆ หรือการให้คำมั่นสัญญาจอมปลอม เพื่อปกปิดการขูดรีดกรรมาชีพที่เขากระทำอยู่ แต่พอเกิดการนัดหยุดงานขึ้นภาพลวงตาหรือหน้ากากของผู้อุปถัมภ์ใจดีจะถูกกระชากหลุดไปทันที และกรรมาชีพจะเห็นว่าผู้อุปถัมภ์คือหมาป่าปลอมตัวเป็นแพะ

การนัดหยุดงานเปิดตาของกรรมาชีพให้เห็นธาตุแท้ของรัฐบาลและกฏหมายด้วย ไม่ใช่แค่ธาตุแท้ของนายจ้าง ในลักษณะเดียวกับที่นายทุนพยายามแสดงตัวเป็นผู้อุปถัมภ์ใจดีของกรรมาชีพ เจ้าหน้าที่รัฐต่างๆ และทาสรับใช้ของเขา พยายามหลอกกรรมาชีพว่ารัฐบาลเป็นกลางและมีความเป็นธรรมไม่เข้าข้างนายจ้างหรือลูกจ้าง กรรมาชีพที่ไม่รู้จักกฏหมายและไม่ได้สัมผัสเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ระดับสูง จะหลงเชื่อสิ่งเหล่านี้ได้ง่าย แต่พอเกิดการนัดหยุดงานขึ้น ศาล เจ้าหน้ารัฐ ตำรวจ และแม้แต่ทหารก็มาที่โรงงาน กรรมาชีพเริ่มรู้ว่าเขาฝ่าฝืนกฏหมาย นายจ้างมีสิทธิ์ล้นฟ้าตามกฏหมายที่จะรวมตัวกันอย่างเปิดเผยเพื่อปรึกษาหารือในเรื่องวิธีลดค่าจ้าง แต่กรรมาชีพกลายเป็นผู้ต้องหาเมื่อมีมติร่วมกันในการต่อสู้ กรรมาชีพถูกไล่ออกจากบ้าน ตำรวจสั่งให้ร้านค้าเล็กๆ ที่เคยขายข้าวช่วยกรรมาชีพต้องปิด ยิ่งกว่านี้มีความพยายามที่จะปลุกระดมพลทหารให้เกลียดชังกรรมาชีพ ถึงแม้ว่ากรรมาชีพจะชุมนุมกันอย่างสงบก็ตาม บางครั้งทหารถูกสั่งให้ยิงกรรมาชีพที่ไม่มีอาวุธ (และพระเจ้าซาร์ของรัสเซียเองก็ขอบคุณทหารที่ฆ่ากรรมาชีพมือเปล่าที่ ยาโรซลาฟ ในปี 1895)

ในสภาพเช่นนี้กรรมาชีพทุกคนเริ่มเห็นว่ารัฐบาลคือศัตรูร้ายของตน เพราะรัฐบาลปกป้องนายทุนและมัดมือมัดเท้ากรรมาชีพ กรรมาชีพเริ่มเข้าใจว่ากฏหมายต่างๆ ออกเพื่อผลประโยชน์คนรวยฝ่ายเดียว และเจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของพวกนี้ เขาเริ่มเข้าใจว่ารัฐไม่ยอมให้กรรมาชีพมีเสียง และถ้ากรรมาชีพจะมีสิทธิ์ในการนัดหยุดงาน สิทธิ์ในการเผยแพร่หนังสือพิมพ์ สิทธิ์ในการมีส่วนร่วมทางการเมืองในรัฐสภาที่ออกและควบคุมกฏหมายต่างๆ กรรมาชีพจะต้องต่อสู้เพื่อสิทธิของชนชั้นตนเอง ฝ่ายรัฐเองเข้าใจดีว่าการนัดหยุดงานเปิดหูเปิดตากรรมาชีพอย่างไร ดังนั้นรัฐย่อมเกรงกลัวการนัดหยุดงานและพยายามห้ามปรามโดยเร็วที่สุดเสมอ รัฐมนตรีมหาดไทยของเยอรมันคนหนึ่งที่มีชื่อว่าชอบปราบปรามนักสังคมนิยมและกรรมาชีพที่มีจิตสำนึก เคยพูดในรัฐสภาว่า “เบื้องหลังการนัดหยุดงานทุกครั้งมีปีศาจของการปฏิวัติ” การนัดหยุดงานทุกครั้งพัฒนาความคิดของกรรมาชีพเพื่อให้เข้าใจว่ารัฐบาลคือศัตรู และเพื่อให้เข้าใจว่าชนชั้นกรรมาชีพต้องเตรียมตัวต่อสู้กับรัฐบาลเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

การนัดหยุดงานสอนให้กรรมาชีพสามัคคี สอนให้กรรมาชีพเห็นว่าการต่อสู้กับนายทุนเป็นสิ่งที่กระทำได้ต่อเมื่อมีความสามัคคีเท่านั้น และสอนให้กรรมาชีพคิดถึงภาพใหญ่แห่งการต่อสู้ระหว่างชนชั้นกรรมาชีพทั้งชนชั้นกับชนชั้นนายทุนทั้งชนชั้น รวมไปถึงการต่อสู้กับความเผด็จการของรัฐบาลด้วย นี่คือสาเหตุที่นักสังคมนิยมเรียกการนัดหยุดงานว่า “โรงเรียนการทำสงคราม” ซึ่งเป็นโรงเรียนที่สอนให้กรรมาชีพทำสงครามกับศัตรูเพื่อปลดแอกประชาชนผู้ทำงานทั้งปวง จากการกดขี่ขูดรีดของเจ้าหน้าที่รัฐและพลังทุน

อย่างไรก็ตาม “โรงเรียนการทำสงคราม” ไม่ใช่สงครามจริง เวลากระแสการนัดหยุดงานขยายตัว กรรมาชีพบางคน รวมถึงนักสังคมนิยมบางคนด้วย จะมองว่าชนชั้นกรรมาชีพสามารถจำกัดการต่อสู้อยู่แค่ในรูปแบบการนัดหยุดงาน การสร้างกองทุนนัดหยุดงาน หรือการสร้างคณะกรรมการคุมการนัดหยุดงานเท่านั้น เขาเชื่อว่าการนัดหยุดงานจะทำให้สถานภาพของกรรมาชีพดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และบางคนอาจเชื่อด้วยว่าการนัดหยุดงานสามารถปลดแอกกรรมาชีพได้ด้วย เมื่อเขาเห็นพลังของกรรมาชีพที่สามัคคี แม้แต่ในการนัดหยุดงานขนาดเล็ก เขาจะคิดต่อไปว่าถ้ากรรมาชีพสามารถนัดหยุดงานทั่วประเทศพร้อมกันกรรมาชีพจะได้ทุกอย่างที่ต้องการจากนายทุนและรัฐบาล ความคิด(ลัทธิสหภาพ)แบบนี้เกิดขึ้นบ่อยในประเทศที่พึ่งจะมีชนชั้นกรรมาชีพเกิดขึ้นมาไม่นานและกรรมาชีพยังอยู่ในสภาพที่ขาดประสบการณ์การต่อสู้ แต่มันเป็นความคิดผิดพลาด การนัดหยุดงานเป็นเพียงวิธีหนึ่งที่กรรมาชีพจะต้องใช้เพื่อปลดปล่อยตนเอง มีวิธีอื่นด้วย และถ้ากรรมาชีพละเลยการต่อสู้วิธีอื่นๆ การพัฒนาการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพจะล้าช้าอย่างยิ่ง

เราต้องยอมรับว่าถ้าการนัดหยุดงานจะได้รับชัยชนะ เราต้องมีกองทุนช่วยเหลือผู้หยุดงาน และในประเทศต่างๆ ทั่วโลกกรรมาชีพในสาขาต่างๆ ของอุตสาหกรรมก็สร้างกองทุนดังกล่าวขึ้น แต่ในรัสเซียสมัยนี้การสะสมกองทุนดังกล่าวค่อนข้างจะยากเพราะตำรวจคอยติดตามยึดเงินและจับคนงานที่มีบทบาทในการสร้างกองทุน อย่างไรก็ตามคนงานก็มีวิธีการในการแอบสร้างกองทุนดังกล่าวได้ แน่นอนเราไม่อยากแนะนำว่ากรรมาชีพไม่ควรสร้างกองทุนนัดหยุดงาน แต่ในสภาพที่การสร้างกองทุนเป็นเรื่องผิดกฏหมายทุนดังกล่าวจะเล็กและมีประโยชน์จำกัด ยิ่งกว่านั้นแม้แต่ในประเทศที่กรรมาชีพสร้างกองทุนนัดหยุดงานได้อย่างเปิดเผยจนสามารถสะสมทุนมหาศาล ชนชั้นกรรมาชีพไม่สามารถจำกัดการต่อสู้แค่ในรูปแบบของการนัดหยุดงานเท่านั้น เหตุผลหลักมีสามประการคือ

Ê เมื่อเกิดเหตุที่ทำให้อุตสาหกรรมหยุดชะงักเช่นวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นมา นายทุนเจ้าของโรงงานมักจะสร้างสถานการณ์เพื่อยุให้กรรมาชีพนัดหยุดงาน ซึ่งเป็นประโยชน์กับนายทุนเนื่องจากเขาต้องการหยุดการผลิตชั่วคราวอยู่แล้วในขณะที่ไม่ต้องจ่ายค่าแรง และกองทุนของกรรมาชีพจะได้ถูกใช้จนหมดไปด้วย ดังนั้นกรรมาชีพไม่ควรจำกัดการต่อสู้ของตนไว้แค่ระดับการนัดหยุดงานเป็นอันขาด

Ë การนัดหยุดงานที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่จะอาศัยเงื่อนไขสำคัญๆ หลายเงื่อนไขดังเช่น ระดับการพัฒนาจิตสำนึกทางชนชั้นที่เพียงพอ ความสามารถในการเลือกช่วงเวลานัดหยุดงานที่ให้เปรียบกับกรรมาชีพมากที่สุด ความสามารถในการรู้จักรูปแบบที่ดีที่สุดของการเสนอข้อเรียกร้อง และความสามารถที่จะประสานงานกับนักสังคมนิยมเพื่อช่วยกันผลิตใบปลิวและหนังสือ ในรัสเซียตอนนี้เรามีกรรมาชีพที่มีลักษณะแบบนี้น้อยนัก ดังนั้นเราต้องทุ่มเทการทำงานเพื่อขยายจำนวนผู้ปฏิบัติการเพื่อให้ความคิดเกี่ยวกับสังคมนิยมและการต่อสู้ของกรรมาชีพขยายไปในหมู่มวลชนทั้งปวง ภาระการงานอันนี้ต้องเป็นภาระของนักสังคมนิยมและคนงานกรรมาชีพที่มีจิตสำนึกทางชนชั้นสูงโดยทำงานผ่านการประสานงานของพรรคสังคมนิยมของชนชั้นกรรมาชีพ

Ì เราพูดไปแล้วว่าการนัดหยุดงานทำให้กรรมาชีพเห็นว่ารัฐบาลคือศัตรู และทำให้กรรมาชีพเข้าใจว่าจะต้องต่อสู้กับศัตรูอันนี้ นี่คือบทเรียนบทสรุปจากหลายๆ ประเทศ กรรมาชีพต้องสู้กับรัฐบาลเพื่อสิทธิเสรีภาพของคนทั้งปวง แต่การต่อสู้ในระดับการเมืองแบบนี้ต้องอาศัยพรรคสังคมนิยมกรรมาชีพที่สามารถอธิบายธาตุแท้ของรัฐบาลและธาตุแท้ของการต่อสู้ทางชนชั้นให้กรรมาชีพเข้าใจได้

การนัดหยุดงานเป็นเพียง “โรงเรียนการทำสงคราม” ไม่ใช่สงครามจริง การนัดหยุดงานเป็นเพียงแง่หนึ่งของการต่อสู้ทางชนชั้นของกรรมาชีพ จากการนัดหยุดงานของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งกรรมาชีพต้องพัฒนาการต่อสู้ไปสู่การต่อสู้ของกรรมาชีพทั้งชนชั้นเพื่อการปลดแอกตนเอง สิ่งนี่กำลังค่อยๆ เกิดขึ้นทั่วโลกอยู่แล้ว เมื่อกรรมาชีพที่มีจิตสำนึกทางชนชั้นพัฒนาตนเองเป็นนักสังคมนิยม คือเขามองเห็นภาพของการต่อสู้เพื่อปลดแอกกรรมาชีพทั้งชนชั้น เขารวมตัวกันเพื่อขยายแนวคิดสังคมนิยมไปทั่วและเพื่อสอนให้กรรมาชีพรู้จักวิธีการต่อสู้กับศัตรูทุกรูปแบบ และเขาสร้างพรรคสังคมนิยมกรรมาชีพที่ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยประชาชนจากการกดขี่ของรัฐบาลและจากแอกของทุน เมื่อนั้นชนชั้นกรรมาชีพจะเป็นหัวใจของขบวนการแรงงานสากลที่สามัคคีกรรมาชีพทั่วโลกและยกธงแดงที่มีคำขวัญ “กรรมาชีพทุกประเทศจงสามัคคี!”

[จาก Lenin “Collected Works” เล่ม 4, Lawrence & Wishart, London 1961.

เรียบเรียงโดย Clarke, T. & Clements, L. ใน “Trade Unions Under Capitalism” 1977.

แปลโดย ใจ อึ๊งภากรณ์ ๒๕๔๔]